การพรากผู้เยาว์
บทความโดย ทนายต่อศักดิ์ สังข์พยุง – บริษัท เอนไลเทิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Tel: 02 1717617, 091 569 5655; LINE ID: eltcorp)
ความผิดอาญาฐานการพรากผู้เยาว์นั้นมีบทบัญญัติกฎหมายอยู่ในมาตรา 317, 318 และ 319 ความหมายของคำว่า “พราก” ตามคำพิพากษาศาลฎีกาให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง การพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแล
ดังนั้นเราต้องทำการวินิจฉัยก่อนว่าผู้กระทำความผิดได้มี “การพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแลหรือไม่” โดยที่กฎหมายให้ลักษณะของ “การพาไป” ไว้ว่า เป็นการพาไปหรือแยกเด็กอออกไปจากอำนาจการปกครองดูแล โดยไม่จำกัดว่าจะกระทำด้วยวิธีใด ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กถูกรบกวน หรือถูกระทบกระเทือน โดยบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กไม่ได้รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ทั้งนี้ไม่ว่าเด็กจะอยู่ที่ใด หากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลยังเอาใจใส่เด็กย่อมอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลตลอดเวลา ดังนี้ การพรากเด็กไม่ว่าผู้พรากเด็กจะเป็นฝ่ายชักชวนโดยมีเจตนามุ่งหมายที่จะกระทำชำเราเพียงอย่างเดียว และผู้เยาว์ก็ยินยอมที่จะไปก็ย่อมเป็นความผิดทั้งสิ้น (ฎีกาเลขที่ 10284/2555, ฎีกาเลขที่ 3840/2553)
แต่อย่างไรก็ตามเราก็ต้องมีความระมัดระวังในการแยกความแตกต่างระหว่าง “การพราก” และ “การพูดชักชวนและไม่ใช่การพูด” หากผู้กระทำความผิดพูดแต่ไม่ได้ “พราก” หรือ “พาผู้เสียหายไป” ผู้ต้องหาย่อมไม่ผิดฐานพรากผู้เยาว์ เพราะการพรากผู้เยาว์จะต้องมีการกระทำที่ยิ่งกว่าการพูดชักชวน เนื่องจากการพูดชักชวน เด็กหรือผู้เยาว์ตัดสินใจไม่ไปตามที่พูดชักชวนก็ได้ จนกว่าจะมีการพาเด็กหรือผู้เยาว์ไปตามทิศทางที่พูดชักชวนไว้จึงจะมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ (คำพิพากษาฎีกาเลขที่ 11196/2555)
ตัวอย่าง ฝ่ายชายอายุ 21 ปี ได้รู้จักกับฝ่ายหญิงอายุ 16 ปี คบกัน แล้วฝ่ายชายชักชวนให้ฝ่ายหญิงมาที่บ้าน ซึ่งฝ่ายหญิงได้มาที่บ้านและมีเพศสัมพันธ์กัน 1 ครั้งด้วยความเต็มใจ โดยฝ่ายหญิงบอกว่าได้ขออนุญาตผู้ปกครองแล้ว แต่ความมาปรากฏภายหลังว่าฝ่ายหญิงไม่ได้ขออนุญาตผู้ปกครองมาบ้านฝ่ายชายแต่อย่างใด จากนั้นทางบ้านของฝ่ายหญิงได้กล่าวหาฝ่ายชายว่าใน 1 อาทิตย์ฝ่ายหญิงจะหายไป 1 วัน ซึ่งได้ทราบภายหลังว่าฝ่ายหญิงได้ออกมาหาฝ่ายชายที่บ้าน หลังจากนั้นทางบ้านของฝ่ายหญิงก็บอกว่าจะเอาเรื่องนี้ไปแจ้งความเอาผิดกับฝ่ายชายในข้อหาพรากผู้เยาว์
ประเด็นตามข้อเท็จจริงในตัวอย่างคือ “ฝ่ายชายมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์หรือไม่”
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 319 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท
ดังนั้น ในกรณีความผิดในข้อหาพรากผู้เยาว์นั้น ต้องดูว่าฝ่ายชายมีเจตนาตั้งแต่แรกหรือไม่ กล่าวคือ ฝ่ายชายทราบข้อเท็จจริงว่าฝายหญิงอายุ 16 ปี ตั้งแต่แรก และมีเจตนาพาไปมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งฝ่ายหญิงจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ถือว่าฝ่ายชายได้กระทำการอันเป็นการพรากผู้เยาว์ไปจากผู้ปกครองหรือบิดามารดาแล้ว ย่อมเป็นการล่วงอำนาจปกครองของบิดามารดาของฝ่ายหญิง เพราะเข้าองค์ประกอบความผิดตาม ปอ.มาตรา 319 ดังกล่าวแล้ว ส่วนจะอ้างว่าฝ่ายหญิงได้ขออนุญาตผู้ปกครองหรือบิดามารดาแล้วนั้น คงไม่ได้หมายความว่าบิดามารดาหรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิงจะให้ความยินยอมให้ลูกสาวของตนไปมีเพศสัมพันธ์กับฝ่ายชาย เพียงแต่มีเจตนาอนุญาตให้ไปพบกันเท่านั้นเอง ฉะนั้น เมื่อฝ่ายชายได้กระทำการอันเป็นการล่วงละเมิดทางเพศกับฝ่ายหญิงซึ่งมีอายุ 16 ปี แม้ฝ่ายหญิงจะยินยอม ฝ่ายชายก็ยังมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ข้างต้น
ซึ่งหากข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปว่าฝ่ายหญิงมิได้เต็มใจไปแต่ถูกพรากไปโดยฝ่ายชาย กฎหมายก็ได้มีการบัญญัติความผิดในกรณีที่มีการพรากผู้เยาว์ที่อายุเกินสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปี โดยที่ผู้เยาว์มิได้เต็มใจเอาไว้ใน ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 318 โดยหากเป็นการพรากไปเพื่อการอนาจารนั้น โทษจะหนักกว่าคือผู้กระทำต้องระวางจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสามหมื่นบาท
เพราะฉะนั้นไม่ว่าการพรากผู้เยาว์ที่อายุเกินสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีนั้นไม่ว่าฝ่ายผู้เยาว์จะยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ตามกฎหมายก็ได้มีการบัญญัติความผิดไว้แล้วสำหรับทั้งสองกรณีใน ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 318 และ 319 สำหรับ ปอ.มาตรา 317 นั้นได้บัญญัตืไว้ลงโทษผู้ที่กระทำการพรากผู้เยาว์ที่อายุไม่เกิน 15 ปี หากเป็นการพรากไปเพื่อการอนาจารจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317 วรรคสาม