กู้ยืมเงินโดยไม่ทำสัญญาเป็นหนังสือ การกู้ยืมเงินสมบูรณ์ไหม ฟ้องบังคับได้หรือไม่
บทความโดย ทนายมนตรี สมสาย – บริษัท เอนไลเทิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Tel: 02 1717617, 091 569 5655, Line ID: eltcorp)
ในยุคข้าวยากหมากแพง ต่างคนต่างต้องดินรนต่อสู้เพื่อให้อยู่รอดในสังคมปัจจุบัน บางคนทำงานเป็นประจำบ้าง งานโรงงานบ้าง รับจ้างบ้าง หรือบางคนประกอบธุรกิจ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นหน้าที่ๆของทุกคน เพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ ในการดำรงชีพ เลี้ยงครอบครัวต่อไป หากการใช้เงินอย่างมีขอบเขตหรือรู้จักประมาณตัวว่ารายได้เท่าไหร่ ควรใช้เท่าไหร่ ผู้เขียนเชื่อว่าปัญหาการกู้ยืมเงิน การผิดนัดชำระเงิน การถูกทวงถาม หรือการถูกฟ้องคดีต่อศาลจนถูกบังคับคดีในที่สุด คงไม่เกิดเป็นอย่างแน่แท้ เพราะฉะนั้นวันนี้ ผู้เขียนจึงอยากขออนุญาตเอาความรู้ทางกฎหมายอันเกี่ยวแก่การกู้ยืม มาเป็นวิทยาทานแก่ผู้อ่าน เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ชาวบ้านเข้าใจผิดกันมานาน
การกู้ยืมเงิน อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ “มาตรา 653 ซึ่งบัญญัติว่าการกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” แต่ปัญหาที่เกิดปรากฏว่าชาวบ้านกู้ยืมกันโดยส่วนใหญ่อาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกันเท่านั้น ให้ยืมเงินโดยการส่งมอบเงินหรือมีการโอนเงินให้แก่กัน โดยไม่ทำหลักฐานอะไรไว้ หรือบางกรณี มีการส่งมอบเอกสารสิทธิ์ เช่นโฉนดที่ดิน (น.ส.4) หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) ให้แก่ผู้ให้กู้เป็นผู้ยึดถือไว้ โดยเข้าใจไปเองว่า นี้ละคือหลักฐาน นี้ละคือการจำนอง ความเข้าใจนี้ผู้เขียนต้องพูดว่าเป็นความเข้าใจผิดไปอย่างมากเลยทีเดียว เพราะการทำเช่นนี้ ถือได้ว่าไม่มีหลักฐานที่เป็นลายมือชื่อของผู้กู้หรือเรียกว่าผู้ที่ต้องรับผิดไว้เป็นสำคัญ ตามหลักของกฎหมายดังที่ผู้เขียนได้อ้างถึงแต่อย่างใด ดังนั้นการกระทำเช่นว่า หากปรากฏว่าในอนาคต ผู้ที่กู้ยืมเงินผิดสัญญาไม่ชำระเงินตามที่เคยรับปากเมื่อครั้งที่ขอกู้ ท่านในฐานนะผู้ให้กู้ก็จะไม่สามารถดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมายได้เลย
ดังนั้นการกู้ยืมเงินกัน กฎหมายท่านบอกว่า ต้องมีลายมือชื่อของผู้กู้หรือที่เรียกกันว่าผู้รับผิดนะครับ หลายท่านถามแล้วต้องอย่างไร การที่ต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือเพื่อที่จะสามารถนำมาใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้นั้นจริงๆแล้วมิได้ต้องทำเป็นสัญญาที่ซับซ้อนเลย แม้แต่เพียงมีกระดาษ 1 แผ่น ที่สามารถเขียนพอได้ใจความว่าใครยืมเงินไปจากเรา จำนวนเท่าใด วันที่เท่าไร และให้มีการลงลายมือชื่อผู้กู้หรือผู้รับผิดเอาไว้นะคะ อันนี้เป็นเนื้อหาหลักๆที่ต้องมีเพื่อให้สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ หากแต่ว่าเราต้องการเพิ่มเงื่อนไขอย่างอื่นเช่น กำหนดชำระเงินคืน ดอกเบี้ย ก็สามารถจะกำหนดเข้าไปได้ตามหลักเสรีภาพทางแพ่งที่เราสามารถจะกำหนดเงื่อนไขระหว่างคู่สัญญาได้ตราบใดที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบและศีลธรรมอันดีของประชาชน พอเขียนมาถึงตรงนี้ต้องขออธิบายเพิ่มเติมว่า โดยหลักกฎหมายแล้วการกู้ยืมเงินกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือหรือสัญญา เพียงแต่ว่าหากไม่ทำหลักฐานเป็นหนังสือจะมีปัญหาว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ แต่ถึงแม้ไม่ทำเป็นหนังสือการกู้ยืมเงินดังกล่าวก็เป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์แล้วตราบใดที่ผู้ให้กู้ยืมและผู้กู้ยืมมีความสามารถตามที่กฎหมายกำหนด และการกู้ยืมไม่มีวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนนะครับ