การค้ำประกัน
เขียนโดย - คุณกฤช ชูพุทธกาล บริษัทเอนไลเทิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด โทร 021717617
โดยปกติทั่วไปแล้ว การที่ท่านจะเอาตัวเองเข้าผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญาของลูกหนี้ ท่านย่อมต้องพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนเสียก่อน เพราะหากหนี้นั้นถึงกำหนดชำระ แล้วลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ตามกฎหมายตัวผู้ค้ำประกันย่อมต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 กล่าวคือ ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมนั่นเอง หากว่าเป็นผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แทนลูกหนี้แล้วนั้น ท่านย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหาย หรือเสียหายไปอย่างใดๆ เพราะการค้ำประกันนั้น ตาม ป.พ.พ.มาตรา 693
เมื่อท่านได้ทำสัญญาค้ำประกันในมูลหนี้ใดๆก็ตาม แล้วต่อมาภายหลังต้องการที่จะยกเลิกการค้ำประกันนั้น ท่านจะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้เสียก่อนซึ่งโดยส่วนมากแล้วเจ้าหนี้จะไม่ยอมยกเลิกสัญญาค้ำประกันให้แก่ผู้ค้ำประกันง่าย ๆ เพราะจะเป็นการทำให้โอกาสที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ลดน้อยถอยลง เว้นแต่ท่านจะสามารถหาบุคคลอื่นมาเป็นผู้ค้ำประกันแทนได้ ดังนั้นก่อนจะทำสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันให้แก่ลูกหนี้ ท่านย่อมต้องคำนึงถึงความสามารถของลูกหนี้ในการที่จะชำระหนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างตัวท่านเองกับลูกหนี้ หน้าที่การงานของลูกหนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง