ทรัพย์สินระหว่างสามีและภริยาตอนที่ 1 - สินส่วนตัว
บทความโดย บริษัทเอนไลเทิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (LINE ID: eltcorp; Facebook: www.facebook.com/enlightencorporation)
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๘ สมาชิกแฟนเพจ Enlighten Corporation และ Website: www.elt-corp.com ทุกท่านนะคะ วันนี้จะขอมาคุยต่อจากคราวที่แล้วในเรื่องเงื่อนไขในการสมรส โดยวันนี้จะขอนำเสนอในเรื่องของทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาว่าด้วยเรื่องของสินส่วนตัวของสามีและภริยาไว้ดังนี้
สินส่วนตัว (The Separate Property) ของสามีและภริยาได้แก่
1.ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนการสมรส โดยการสมรสนี้ต้องเป็นการสมรสตามกฎหมาย หากเพียงชายและหญิงมาอยู่ร่วมกันเฉยๆนั้นไม่ได้ถือว่าเป็นการสมรสตามกฎหมายไทย เพราะฉะนั้นทรัพย์สินใดๆที่สามีและภริยามีอยู่ก่อนการจดทะเบียนสมรสนั้นถือว่าเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย เช่น นายเสมา กับนางวันนา จดทะเบียนสมรสกันวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ดังนั้นทรัพย์สินใดๆนายเสมาและนางวันนามีอยู่ก่อนวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ถือว่าเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย
2. เครื่องใช้ส่วนตัว เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับอันควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือประกอบวิชาชีพของสามีหรือภริยา สำหรับสินส่วนตัวกลุ่มที่สองนี้หมายถึงเครื่องใช้ส่วนตัว เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ผ้าเช็ดตัว กระเป๋าถือ แม้ว่าจะได้มาระหว่างการสมรสหรือซื้อมาระหว่างการสมรสแต่เป็นของใช้ส่วนตัวของแต่ละฝ่ายก็ถือว่าเป็นสินสั่วน เครื่องแต่งกายของสามีและภริยา เครื่องประดับอันควรแก่ฐานะหมายถึงว่าในกรณีที่มีการซื้อเครื่องประดับระหว่างการสมรสที่มีมูลค่าไม่สมควรแก่ฐานะจะต้องจัดว่าเป็นสินสมรสไม่ใช่สินส่วนตัว เช่น นายสินทำงานมีเงินเดือนๆละ 50,000 บาท ส่วนนางแก้วทำงานมีเงินเดือนๆละ 30,000 บาท รวมแล้วทั้งสองมีเงินเดือนๆละ 80,000 บาท โดยทั้งสองมีืทรัพย์สินอีก 1 ชิ้นคือที่ดินขนาด 200 ตารางวา มูลค่า 500,000 บาท ปรากฎว่านางแก้วอยากได้แหวนเพชรขนาด 5 กะรัตเพื่อใส่ไปอวดเพื่อนๆจึงตัดสินใจเอาเงินเก็บในธนาคารมูลค่า 550,000 บาทไปซื้อแหวนเพชรวงนี้มา ในกรณีเช่นนี้จะเห็นว่าเครื่องประดับคือแหวนวงนี้มีมูลค่าเกินฐานะของนายสิน และนางแก้วจึงไม่ถือว่าเป็นสินส่วนตัวของนางแก้ว แต่ในทางกลับกันหากนางแก้วนำเงิน 18,000 บาทไปซื้อแหวนทองคำมาเช่นนี้มูลค่าของแหวนทองคำดูเป็นการเหมาะแก่ฐานะจึงถือว่าเป็นสินส่วนตัวของนางแก้วได้
3. ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างการสมรสโดยการรับมรดก หรือการให้โดยเสน่หา สำหรับในเรื่องของการรับมรดกของสามีหรือภริยานี้มักจะมีความเข้าใจผิดกันมานานว่าหากทำการสมรสกันแล้วถ้ามีทรัพย์สินใดที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับมรดกก็จะกลายเป็นสินสมรสไปทันที จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเพราะกฎหมายได้กำหนดไว้ให้ชัดเจนว่า หากไม่ได้มีการระบุไว้ในพินัยกรรมว่าจะยกมรดกนั้นให้เป็นสินสมรสระหว่างสามีและภริยา หรือเป็นการรับมรดกจากผลของกฎหมายในฐานะทายาทโดยธรรมนั้นทรัพย์สินดังกล่าวจะกลายเป็นสินสมรสทันที จึงต้องขอปรับความเข้าใจใหม่ว่าหากไม่ได้ระบุว่ายกให้ทั้งสามีและภริยาก็จะเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายที่ได้รับมรดกนั้นๆ
สำหรับทรัพย์สินใดที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาโดยเสน่หาระหว่างการสมรสนั้นก็ถือว่าเป็นสินส่วนตัวของผู้ได้รับ กรณีที่ตัวอย่างที่เกิดขึ้นคือ สามีไปบวชเป็นพระสงฆ์และในขณะที่บวชเป็นพระสงฆ์นั้นก็ได้รับนิมนต์ไปสวดมนต์ที่บ้านญาติโยมและได้รับเงินถวายมาจากการไปสวดมนต์หรือเทศนานั้น เงินเหล่านี้่ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยการให้โดยเสน่หาจึงเป็นสินส่วนตัวของสามี
4. ของหมั้น ในกรณีนี้จะมีได้เพียงกรณีของฝ่ายหญิงเท่านั้นที่จะมีของหมั่้นที่ได้รับจากฝ่ายชายถือว่าเป็นสินส่วนตัว
มีประเด็นที่เป็นคำถามกันต่อมาแล้วถ้าหากนำเอาสินส่วนตัวไปแปลงสภาพเช่นไปขายได้รับเงินสดมา หรือนำไปแลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นเช่น นำเอารถยนต์สินส่วนตัว (รถยนต์คันที่มีมาก่อนทำการจดทะเบียนสมรส) ไปแลกกับรถกระบะมาโดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มเติมเลยนั้น เงินสดที่ได้รับมาจากการขายสินส่วนตัว หรือรถกระบะที่ได้มาจากการแลกสินส่วนตัวกับของอีกชิ้นนั้นก็ยังถือว่าเป็นสินส่วนตัวของสามีหรือภริยานั้นไป
หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องของทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา หรือกรณีที่เป็นการอยู่ร่วมกันโดยไม่จดทะเบียนแล้วมีคำถามเกี่ยวกับทรัพย์สินท่านสามารถติดต่อเราได้ที่ บริษัทเอนไลเทิน คอร์ปอเรชั่น จำกัดที่ 02 1717617 หรือ Line ID: eltcorp