กฎหมายเกี่ยวกับการสาบสูญ
การสาบสูญ
เขียนโดย ทนายปนัดดา พะนะชัย บริษัทเอนไลเทิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด Tel: 02 1717617 LINE ID: eltcorp
จากกรณีที่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้มีข่าวเกี่ยวกับการหายไปอย่างลึกลับของเครื่องบินของสายการบิน อุบัติเหตุทางเครื่องบิน อุบัติเหุตทางเรือเป็นต้น ซึ่งในกรณีที่มีเหตุการณ์พิเศษลักษณะนี้เกิดขึ้นแล้วไม่มีใครทราบได้ว่าบุคคลที่เรารู้จัก คนใกล้ตัวเรานั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เป็นตายร้ายดีอย่างไร กฎหมายมีการบัญญัติเรื่องเกี่ยวกับกรณีลักษณะนี้ไว้อย่างไรกรณีที่รอเท่าไรก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าคนดังกล่าวยังอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว เพราะการที่บุคคลใดๆหายสาบสูญไปนั้น ย่อมมีสิ่งที่เป็นประเด็นทางกฎหมายเกิดขึ้นแน่นอน เช่นเรื่องของการจัดการกองทรัพย์สินต่างๆของบุคคลนั้นๆ สถานะการสมรสกับคู่สมรสฝ่ายที่ยังอยู่เป็นต้น
ไม่เพียงแต่ในกรณีเหตุการณ์พิเศษ ในกรณีที่บุคคลใดๆหายไปจากภูมิลำเนาของตนเองโดยที่ไม่มีใครทราบหรือติดต่อหรือพบเห็นเลย ระยะเวลานานเท่าใดที่กฎหมายจะอนุญาตให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาจัดการกองทรัพย์สินได้ กฎหมายมีการกำหนดไว้อย่างไรหากบุคคลดังกล่าวหายสาบสูญไปแล้วต้องหายไปนานเท่าใด
วันนี้เราจะพาท่านไปทำความรู้จักกับกฎหมายแพ่งว่าด้วยเรื่องของบุคคลเกี่ยวกับเรื่องการสาบสูญนะคะ
มาตรา 61 ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้
ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี
(1) นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงครามและ หายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
(2) นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลายหรือสูญหายไป
(3) นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไปถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น
ผู้ไม่อยู่ที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญแล้ว กฎหมายให้สันนิษฐานว่าถึงแก่ความตาย เป็นกรณีถึงแก่ความตายโดยผลของกฎหมาย หลักเกณฑ์ที่จะขอให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญได้นั้นต้องดูตามมาตรา 61 ดังนี้
1. ไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่
2. ไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
3. เป็นเวลา 5 ปี (เป็นการขอในกรณีธรรมดา)
การไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ โดยไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร หมายความว่า บุคคลนั้นหายไปจากบ้านเฉย ๆ เช่น บอกว่าจะไปทำงานที่ต่างจังหวัด แล้วไม่กลับมาอีกเลย หรือ หนีออกจากบ้านไปเฉย ๆ แล้วไม่กลับมาอีกเลย และ ไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ คือ ไม่มีใครทราบข่าวคราว ไม่เคยติดต่อญาติเลย ไม่มีใครพบเห็นอีกเลย และ การหายไปนั้นได้หายไปเป็นเวลา 5 ปี ผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการสามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งว่าบุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญได้ เมื่อศาลมีคำสั่งดังกล่าวแล้ว กฎหมายให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย สิทธิหน้าที่ของบุคคลนั้นย่อมระงับลง ทรัพย์สินของบุคคลนั้นตกแก่ทายาททันทีตามาตรา 1602 การที่กฎหมายใช้ คำว่า “สันนิษฐาน” นี้ หมายความว่า เป็นแต่เพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้นเพราะความหวังว่าจะกลับมานั้นแทบไม่มี แต่หากกลับมาก็สามารถร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งว่าเขาเป็นคนสาบสูญได้
ส่วนการขอในกรณีพิเศษนั้น คือหากมีเหตุตาม (1) – (3) ระยะเวลา 5 ปีจะลดเหลือเพียง 2 ปี ผู้มีสิทธิร้องขอคือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการเหมือนกรณีการยื่นขอกรณีธรรมดา
(1) นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงครามและ หายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว เช่น เอเป็นทหารซึ่งประเทศไทยส่งไปร่วมรบที่ประเทศติมอร์ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2555 การรบสิ้นสุดในวันที่ 25 ธันวาคม 2555 จนกระทั่งบัดนี้เอไม่กลับมาประเทศไทยอีกเลย และไม่มีผู้ใดพบศพ (ถือว่าหายไปเพราะถ้าพบศพก็ไม่หาย) ดังนั้นวันแรกที่จะเกิดสิทธิในการร้องขอให้เอเป็นบุคคลสาบสูญได้คือวันที่ 25 ธันวาคม 2557
(2) นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลายหรือสูญหายไป เช่น เอขึ้นเครื่องบินเดินทางไปมาเลเซีย ในวันที่ 15 ธันวาคม 2555 เครื่องบินตกวันนั้นวันแรกที่จะขอให้เอเป็นคนสาบสูญได้คือวันที่ 15 ธันวาคม 2557 แต่ถ้าเหตุภยันตรายนั้นคงมีต่อเนื่อง เช่น วันที่ 15 ธันวาคม 2555 เอล่องเรือออกทะเลแล้วเกิดพายุ ในวันที่ 16 ทางชายฝั่งไม่ได้รับสัญญาณจากเรือ วันที่ 17 พายุสงบ วันที่เริ่มนับคือวันที่ไม่ได้รับสัญญาณจากเรือ ดังนั้นวันที่จะร้องได้คือวันที่ 16 ธันวาคม 2555 แต่ถ้าไม่มีการตรวจสัญญาณเลยต้องรอจนพายุสงบแล้วไม่พบเรือหรือไม่ติดต่อกลับมาอีก วันแรกจะเป็นวันที่ 17 ธันวาคม 2555 แล้วแต่ว่าเราไม่สามารถติดต่อบุคคลนั้นได้ในวันใด หรือไม่สามารถทราบข่าวคราวของเขาในวันใด
(3) นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไปถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น เช่น วันที่15 ธันวาคม 2555 นายเอเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปเที่ยวที่ญี่ปุ่น ญาตินายเอทราบว่านายเอไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วจะกลับมาหลังปีใหม่ ปรากฏว่าในวันที่ 26 ธันวาคม 2555 เกิดคลื่นยักษ์ซินามิขึ้นที่ญี่ปุ่น หลังเกิดเหตุการณ์ญาติออกตามหาแต่ไม่พบนายเอ การนับระยะเวลาจะต่างจากผู้ไม่อยู่เพราะไม่ได้นับวันไป แต่นับวันที่ภยันตรายได้ผ่านพ้นไป เมื่อภยันตรายผ่านพ้นไปในวันที่ 26 ธันวาคม จะร้องขอให้เป็นคนสาบสูญได้ก็ต่อเมื่อถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2557
ส่วนผู้มีส่วนได้เสียที่จะยื่นคำร้องต่อศาลได้นั้น คือ ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากความตายของผู้สาบสูญเท่านั้นที่จะมีสิทธิขอได้ เช่น ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก ทายาทโดยพินัยกรรม ส่วนเจ้าหนี้นั้นเป็นผู้มีส่วนได้เสียในประโยชน์ระหว่างมีชีวิตไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในประโยชน์อันเกิดจากความตายจะร้องขอให้นายเอเป็นคนสาบสูญไม่ได้
หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อทางทีมงานได้ที่ 02 1717617 หรือ LINE ID: eltcorp นะคะ