ถาม-ตอบเรื่องเกี่ยวกับการจดทะเบียนรับรองบุตร ตอนที่ 1
ถาม-ตอบ เรื่องเกี่ยวกับการจดทะเบียนรับรองบุตร ตอนที่ 1
โดย ที่ปรึกษากฎหมายกฤช ชูพุทธกาล บริษัท เอนไลเทิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด
(Tel: 02 1717617, 091 569 5655 LINE ID: eltcorp)
หนึ่งในคำถามหรือปัญหาที่มักจะมีการสอบถามกันเข้ามาเสมอในปัจจุบันคือเรื่องของการที่บิดาจะจดทะเบียนรับรองบุตร ซึ่งสาเหตุหลักๆที่มักจะมีคำถามกันก็คือกรณีบิดาและมารดาของเด็กมิได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย แต่อยู่กินกันจนมีบุตร ในกรณีเช่นนี้เมื่อเด็กเกิดมาเด็กจะเป็นเพียงบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของมารดาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1456
ดังนั้นเพื่อให้เด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาหรือสามีที่มิได้จดทะเบียนสมรสดัวยนั้นกฎหมายจึงได้มีบัญญัติวิธีการเอาไว้สำหรับการจดทะเบียนรับรองบุตรให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของชาย ซึ่งในวันนี้ทางผู้เขียนจะขอนำเสนอหลักการของกฎหมายในการรับรองบุตรในรูปแบบของคำถาม-คำตอบที่มักจะมีการสอบถามกันเข้ามากับทางสำนักงานจำนวนมากดังต่อไปนี้
คำถามที่ 1 – ในกรณีที่ชายและหญิงผู้ซึ่งเป็นบิดามารดาของเด็กมิได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่บิดามีเพียงชื่อของชายปรากฎอยู่สูติบัตรของเด็กถือว่าเป็นการรับรองบุตรแล้วหรือไม่
ตอบคำถามที่ 1 – การที่มีชื่อของชายอยู่ในสูติบัตรระบุว่าเป็นบิดานั้น ยังไม่ถือว่าเป็นการรับรองว่าเด็กคนนั้นเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่บิดามารดายังมิได้มีการสมรสกันตามกฎหมาย ซึ่งก็คือการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายนั้น เมื่อบุตรเกิดขึ้นมาโดยยังไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรส เด็กคนนั้นก็ยังไม่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือชายผู้นั้นแม้จะมีชื่อปรากฎในสูติบัตรแล้วก็ตาม
คำถามที่ 2 – เด็กที่เกิดจากบิดามารดาที่ไม่ได้สมรสกันตามกฎหมาย จะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาได้อย่างไรบ้าง
ตอบคำถามที่ 2 – การที่เด็กจะกลายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดานั้น สามารถทำได้ 3 วิธีการตาม ป.พ.พ.มาตรา 1547
- บิดามารดาจดทะเบียนสมรสกัน เมื่อบิดามารดาโดยสายโลหิตได้จดทะเบียนสมรสกัน บุตรที่เกิดมาก่อนแล้วก็จะกลายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาไปด้วย
- บิดาดำเนินการยื่นคำร้องขอจดทะเบียนว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและได้รับความยินยอมจากทั้งมารดาและเด็ก
- ร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งศาลเพื่อให้สามารถดำเนินการจดทะเบียนรับรองเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา
คำถามที่ 3 – ทำไมบิดาจึงต้องร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้สามารดำเนินการจดทะเบียนรับรองบุตรได้ในกรณีที่บุตรอายุยังน้อยมาก เช่น 5 เดือน หรือ 1 ขวบ
ตอบคำถามที่ 3 – กฎหมายกำหนดว่า การที่บิดาจะจดทะเบียนรับรองบุตรให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น จะต้องได้รับความยินยอมจากมารดาและตัวเด็ก ในกรณีที่เด็กหรือมารดาไม่ให้ความยินยอมหรือไม่สามารถให้ความยินยอมได้ บิดาก็จะต้องใช้สิทธิทางศาล การที่เจ้าหน้าที่เขตหรืออำเภอไม่รับจดทะเบียนเด็กที่มีอายุยังน้อย ยังอ่านเขียนหนังสือไม่ได้นั้น ถือว่าถูกต้องแล้ว เพราะกฎหมายกำหนดว่าต้องมีความยินยอมของเด็กด้วยในการที่จะจดทะเบียนรับรองบุตร โดยส่วนใหญ่นั้นจะถือเอาการที่เด็กสามารถเขียนชื่อตัวเองได้เป็นหลักฐานในการให้ความยินยอมให้บิดาจดทะเบียนรับรองบุตรต่อนายทะเบียนได้
คำถามที่ 4 – ถ้าศาลสั่งให้บิดาสามารถดำเนินการจดทะเบียนรับรองบุตรได้แล้ว มารดาหรือเด็กจะสามารถคัดค้านไม่ให้บิดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองได้หรือไม่
ตอบคำถามที่ 4 – แม้ว่าศาลจะอนุญาตให้สามารถดำเนินการจดทะเบียนรับรองบุตรได้แล้วนั้น แต่มารดาหรือบุตรยังมีสิทธิที่จะสามารถแจ้งไปยังนายทะเบียนว่าบิดาเป็นผู้ไม่สมควรใช้อำนาจปกครองบุตร ซึ่งหากบิดาต้องการจะมีอำนาจในการปกครองบุตรด้วยนั้น ก็ต้องดำเนินการร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลท่านพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่ โดยสามารถดำเนินการยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรและขอใช้อำนาจในการปกครองบุตรไปพร้อมกันได้เลยตามมาตรา 1449
วันนี้ผู้เขียนขอนำเสนอคำถาม-คำตอบยอดนิยมไว้เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ ในตอนที่ 2 ผู้เขียนจะมากล่าวถึงเรื่องของสิทธิในการปกครองบุตรของบิดาว่าจะสามารถขอมีอำนาจปกครองเพียงผู้เดียวได้หรือไม่ และการที่บุตรฟ้องให้ชายหรือบิดาจดทะเบียนรับว่าตนเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นสามารถทำได้หรือไม่อย่างไร
กรณีท่านมีคำถามหรือต้องการปรึกษาปัญหาต้องการปรึกษาทีมกฎหมายท่านสามารถติดต่อได้ที่ บริษัท เอนไลเทิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ 02 1717617, 091 569 5655 หรือ LINE ID: eltcorp