Font Size

SCREEN

Profile

Layout

Menu Style

Cpanel
  • High Customer Satisfaction with High Integrity & Quality of Services

    High Customer Satisfaction with High Integrity & Quality of Services

    ความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้า ด้วยบริการที่ซื่อสัตย์และคุณภาพเป็นเลิศ

  • Corporate & Commercial Advisory Services

    Corporate & Commercial Advisory Services

    บริการที่ปรึกษาสำหรับองค์กรและการพาณิชย์

  • IT-Enabled case/matter management process

    IT-Enabled case/matter management process

    ระบบการทำงานที่ทันสมัย โดยการนำเอาระบบ IT มาช่วยบริหารคดี

  • Executive Legal Advisor or Personal Legal Advisor

    Executive Legal Advisor or Personal Legal Advisor

    ที่ปรึกษากฎหมายส่วนตัวสำหรับผู้บริหาร หรือที่ปรึกษากฎหมายส่วนตัว

  • Business Consulting & Educational Services

    Business Consulting & Educational Services

    บริการที่ปรึกษาด้านธุรกิจ และ การฝึกอบรมสัมนา

  • More than 20 alliances across the globe

    More than 20 alliances across the globe

    การมีพันธมิตรที่พร้อมให้บริการมากกว่า 20 ประเทศ

อำนาจในการปกครองบุตร

บทความโดย ที่ปรึกษากฎหมายกฤช ชูพุทธกาล – บริษัท เอนไลเทิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด โทร. 021717617, 091 569 5655, LINE ID: eltcorp

 

                สวัสดีครับ วันนี้ผู้เขียนจะมานำเสนอบทความต่อจากสัปดาห์ที่แล้วนะครับ ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นได้พูดถึงเรื่องการจดทะเบียนรับรองบุตร ให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา ส่วนในสัปดาห์นี้ดังที่ได้เกริ่นไว้ในตอนท้าย จะกล่าวถึง เรื่องการที่บิดาหรือมารดา สามารถมีอำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียวได้หรือไม่อย่างไร

                ในปัจจุบันประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ว่าได้เรื่องครอบครัวได้ให้สิทธิชายและหญิงเท่าเทียมกันในการเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรร่วมกันอย่างเท่าเทียมกัน แต่บุตรที่จะอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของบิดาและมารดานั้นมีแต่เฉพาะบุตรที่เป็นผู้เยาว์เท่านั้น บุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้วไม่ว่าจะเป็นการบรรลุนิติภาวะด้วยการสมรสเมื่ออายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ หรือบรรลุนิติภาวะเพราะอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ก็ได้พ้นสภาพผู้เยาว์ไปแล้วไม่ต้องอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของบิดาและมารดาอีกต่อไป

                โดยปกติแล้วอำนาจในการปกครองบุตรนั้นต้องอยู่กับบิดาและมารดา แต่จะมีกรณียกเว้นที่อำนาจปกครองบุตรอาจจะอยู่กับบิดาหรือมารดาก็เป็นได้ตามมาตรา 1566 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดาในกรณีดังต่อไปนี้

(1)     มารดาหรือบิดาตาย หมายความว่า บิดาหรือมารดาฝ่ายที่เหลืออยู่ก็เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองไปแต่เพียงคนเดียว หากมารดาหรือบิดาตายและอีกฝ่ายที่เหลืออยู่มิได้ถูกถอนอำนาจปกครองแล้วนั้น จะไม่อาจตั้งผู้ครองขึ้นมาแทนฝ่ายที่เหลืออยู่ได้

(2)     ไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย เช่น กรณีที่บิดาหายไปจากถิ่นที่อยู่โดยไม่มีใครทราบว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร มารดาที่ยังเหลืออยู่จึงใช้สิทธิปกครองแต่เพียงผู้เดียว

(3) มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

(4) มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน

(5) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา ซึ่งการที่ศาลจะสั่งให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจปกครองเพียงคนเดียวนั้น ศาลต้องคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ

(6) บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้

 

                บิดาหรือมารดา จะสามารถมีอำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียวได้นั้น ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุในมาตรา 1566 ข้างต้น เช่น มารดาหรือบิดาตาย อำนาจปกครองจะตกอยู่กับฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่ กรณีไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย อย่างเช่น บิดาไปร่วมรบในสงคราม แล้วไม่กลับมา โดยไม่มีใครทราบว่าบิดายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เช่นนี้อำนาจปกครองก็จะอยู่ที่มารดาแต่ผู้เดียว หรืออาศัยเหตุอื่นๆตามมาตรา 1566

                ทีนี้หลายคนอาจสงสัยว่า ตามมาตรา 1566(5) นั้น บิดาหรือมารดาจะใช้สิทธิทางศาลขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตนเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรได้แต่เพียงผู้เดียว หรือจะเพิกถอนอำนาจปกครองของอีกฝ่ายหนึ่งนั้น เรื่องนี้ต้องมีเหตุตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1582 ในการอ้างต่อศาลเพื่อขอเพิกถอนอำนาจปกครองบุตร ดังนี้คือ

1.       ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นบุคคลไร้ความสามารถ

2.       ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

3.       ผู้ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ เช่น ทอดทิ้งบุตร ไม่ให้บุตรได้รับการศึกษา เป็นต้น

4.       ผู้ใช้อำนาจปกครองประพฤติชั่วร้าย เช่น ถูกศาลพิพากษาให้จำคุกในคดียาเสพติด เป็นต้น

                ดังนั้น หากมีพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้น ฝ่ายที่ไม่มีอำนาจปกครองบุตรก็สามารถยื่นฟ้องต่อศาล ขอให้ศาลเพิกถอนอำนาจปกครองบุตรได้ โดยทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นประการสำคัญตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ถาม-ตอบ เรื่องเกี่ยวกับการจดทะเบียนรับรองบุตร ตอนที่ 1

โดย ที่ปรึกษากฎหมายกฤช ชูพุทธกาล  บริษัท เอนไลเทิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด

(Tel: 02 1717617, 091 569 5655  LINE ID: eltcorp)

 

หนึ่งในคำถามหรือปัญหาที่มักจะมีการสอบถามกันเข้ามาเสมอในปัจจุบันคือเรื่องของการที่บิดาจะจดทะเบียนรับรองบุตร ซึ่งสาเหตุหลักๆที่มักจะมีคำถามกันก็คือกรณีบิดาและมารดาของเด็กมิได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย แต่อยู่กินกันจนมีบุตร ในกรณีเช่นนี้เมื่อเด็กเกิดมาเด็กจะเป็นเพียงบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของมารดาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1456

ดังนั้นเพื่อให้เด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาหรือสามีที่มิได้จดทะเบียนสมรสดัวยนั้นกฎหมายจึงได้มีบัญญัติวิธีการเอาไว้สำหรับการจดทะเบียนรับรองบุตรให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของชาย ซึ่งในวันนี้ทางผู้เขียนจะขอนำเสนอหลักการของกฎหมายในการรับรองบุตรในรูปแบบของคำถาม-คำตอบที่มักจะมีการสอบถามกันเข้ามากับทางสำนักงานจำนวนมากดังต่อไปนี้

คำถามที่ 1 – ในกรณีที่ชายและหญิงผู้ซึ่งเป็นบิดามารดาของเด็กมิได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่บิดามีเพียงชื่อของชายปรากฎอยู่สูติบัตรของเด็กถือว่าเป็นการรับรองบุตรแล้วหรือไม่

ตอบคำถามที่ 1 – การที่มีชื่อของชายอยู่ในสูติบัตรระบุว่าเป็นบิดานั้น ยังไม่ถือว่าเป็นการรับรองว่าเด็กคนนั้นเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่บิดามารดายังมิได้มีการสมรสกันตามกฎหมาย ซึ่งก็คือการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายนั้น เมื่อบุตรเกิดขึ้นมาโดยยังไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรส เด็กคนนั้นก็ยังไม่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือชายผู้นั้นแม้จะมีชื่อปรากฎในสูติบัตรแล้วก็ตาม

 

คำถามที่ 2 – เด็กที่เกิดจากบิดามารดาที่ไม่ได้สมรสกันตามกฎหมาย จะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาได้อย่างไรบ้าง

ตอบคำถามที่ 2การที่เด็กจะกลายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดานั้น สามารถทำได้ 3 วิธีการตาม ป.พ.พ.มาตรา 1547

-        บิดามารดาจดทะเบียนสมรสกัน เมื่อบิดามารดาโดยสายโลหิตได้จดทะเบียนสมรสกัน บุตรที่เกิดมาก่อนแล้วก็จะกลายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาไปด้วย

-        บิดาดำเนินการยื่นคำร้องขอจดทะเบียนว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและได้รับความยินยอมจากทั้งมารดาและเด็ก

-        ร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งศาลเพื่อให้สามารถดำเนินการจดทะเบียนรับรองเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา

 

 

คำถามที่ 3 – ทำไมบิดาจึงต้องร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้สามารดำเนินการจดทะเบียนรับรองบุตรได้ในกรณีที่บุตรอายุยังน้อยมาก เช่น 5 เดือน หรือ 1 ขวบ

ตอบคำถามที่ 3กฎหมายกำหนดว่า การที่บิดาจะจดทะเบียนรับรองบุตรให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น จะต้องได้รับความยินยอมจากมารดาและตัวเด็ก ในกรณีที่เด็กหรือมารดาไม่ให้ความยินยอมหรือไม่สามารถให้ความยินยอมได้ บิดาก็จะต้องใช้สิทธิทางศาล การที่เจ้าหน้าที่เขตหรืออำเภอไม่รับจดทะเบียนเด็กที่มีอายุยังน้อย ยังอ่านเขียนหนังสือไม่ได้นั้น ถือว่าถูกต้องแล้ว เพราะกฎหมายกำหนดว่าต้องมีความยินยอมของเด็กด้วยในการที่จะจดทะเบียนรับรองบุตร โดยส่วนใหญ่นั้นจะถือเอาการที่เด็กสามารถเขียนชื่อตัวเองได้เป็นหลักฐานในการให้ความยินยอมให้บิดาจดทะเบียนรับรองบุตรต่อนายทะเบียนได้

 

คำถามที่ 4 – ถ้าศาลสั่งให้บิดาสามารถดำเนินการจดทะเบียนรับรองบุตรได้แล้ว มารดาหรือเด็กจะสามารถคัดค้านไม่ให้บิดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองได้หรือไม่

ตอบคำถามที่ 4 – แม้ว่าศาลจะอนุญาตให้สามารถดำเนินการจดทะเบียนรับรองบุตรได้แล้วนั้น แต่มารดาหรือบุตรยังมีสิทธิที่จะสามารถแจ้งไปยังนายทะเบียนว่าบิดาเป็นผู้ไม่สมควรใช้อำนาจปกครองบุตร ซึ่งหากบิดาต้องการจะมีอำนาจในการปกครองบุตรด้วยนั้น ก็ต้องดำเนินการร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลท่านพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่ โดยสามารถดำเนินการยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรและขอใช้อำนาจในการปกครองบุตรไปพร้อมกันได้เลยตามมาตรา 1449

 

วันนี้ผู้เขียนขอนำเสนอคำถาม-คำตอบยอดนิยมไว้เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ ในตอนที่ 2 ผู้เขียนจะมากล่าวถึงเรื่องของสิทธิในการปกครองบุตรของบิดาว่าจะสามารถขอมีอำนาจปกครองเพียงผู้เดียวได้หรือไม่ และการที่บุตรฟ้องให้ชายหรือบิดาจดทะเบียนรับว่าตนเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นสามารถทำได้หรือไม่อย่างไร

 

กรณีท่านมีคำถามหรือต้องการปรึกษาปัญหาต้องการปรึกษาทีมกฎหมายท่านสามารถติดต่อได้ที่ บริษัท เอนไลเทิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ 02 1717617, 091 569 5655 หรือ LINE ID: eltcorp 

 

Location

Hot line

Tel : +662 171 7617

Fax: +662 171 7615

 36/65 RK Biz Center, Motorway Road, Klongsongtonnoon, Lad Krabang, Bangkok 10520