วิเคราะห์กฎหมายจากข่าว - ตัดสินแล้วคดีฟันปากสุนัข ประเดิม พรบ.ทารุณกรรมสัตว์
เรียนกฎหมายจากข่าว - พรบ.ป้องกันกาทารุณกรรมสัตว์ฯ ปี พ.ศ. 2557
เขียนโดย บริษัท เอนไลเทิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด LINE ID: eltcorp
ตามที้่ได้มีข่าวออกมาว่าเจ้าของสุนัขที่ชื่อเจ้า "ก้านกล้วย" อายุ 1 ปีเศษมีเจ้าของคือนายสายยนต์ คำภูแก้ว อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 24 หมู่ 6 บ้านนาข่า ต.นาข่า อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ซึ่งเมื่อวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา นางจอมศรี คำภูแก้ว ภรรยาของนายสายยนต์ ได้เข้าแจ้งความ ว่า สุนัขก้านกล้วย ถูกนายคำดี โคตรถา อายุ 50 ปี อยู่หมู่บ้านเดียวกัน และยังเป็นญาติ ใช้มีดฟันใบหน้าด้านขวาสุนัขก้านกล้วยจนได้รับบาดเจ็บ
ทั้งนี้ นางจอมศรีได้นำสุนัขไปรักษาที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอท่าบ่อ ต้องเย็บถึง 3 ชั้น มากกว่า 100 เข็ม และเมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา ตำรวจ สภ.ท่าบ่อ ได้เรียกตัวนายคำดี โคตรถา มาสอบปากคำ ในความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ที่ผ่านการพิจารณาของ สนช.และมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.57 ที่ผ่านมา
โดยนายคำดี ให้การกับเจ้าหน้าที่ว่า สุนัขจะวิ่งไปกัดไก่ของตน จึงขว้างมีดเพื่อไล่สุนัข ไม่หวังจะฆ่าให้ตาย และภายหลังทั้งสองฝ่ายต่างไม่อยากเป็นคดีความกัน แต่คดีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ใหม่ ที่เป็นความอาญา มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท โดยในวันนี้ พ.ต.ท.กิตติธัช สีหาชัย พงส.ชำนาญการพิเศษ สภ.ท่าบ่อ ได้นำสำนวนส่งให้กับอัยการและศาลจังหวัดหนองคายพิจารณาแล้ว
Photo Credit: www.thairath.co.th
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.30 น. ศาลจังหวัดหนองคาย ได้พิจารณาตัดสินความผิดของนายคำดี โคตรถา จำเลยในคดีนี้แล้ว โดยให้จำคุก 1 ปี ปรับ 2,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี.
เมื่อมาศึกษากฎหมายที่ใช้เป็นหลักในการตัดสินคดีนี้จะพบมาตราหลักๆในพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และจัดสวัสดิภาพสัตว์ จะพบมาตราที่สำคัญสำหรับชาวบ้านทั่วๆไปที่ควรรู้ดังนี้
1. มาตรา 3 ที่กล่าวถึงนิยามของคำต่อไปนี้ไว้ดังนี้
ของคำว่า "สัตว์" หมายถึง
- สัตว์ที่โดยปกติเลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์บ้าน
- สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งาน
- สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นพาหนะ
- สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นเพื่อน
- สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร
- สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการแสดง
- หรือ สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการอื่นใด
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีเจ้าของหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
>>>วิเคราะห์>> จากมาตรานี้จะเห็นว่ากฎหมายให้นิยามของคำว่าสัตว์ไว้เป็นหลักดังกล่าวมาแต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือถ้าเป็นสัตว์ที่เข้านิยามข้างต้น แม้ว่าจะไม่มีเจ้าของก็ถือว่าเป็น "สัตว์" ตามกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้นมิใช่แต่เพียงสัตว์ที่มีเจ้าของเท่านั้น
คำว่า "การทารุณกรรม" หมายความว่า การกระทำหรืองดเว้นการกระทำใดๆที่ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานทางร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรืออาจมีผลทำให้สัตว์นั้นตาย และให้หมายความรวมถึงการใช้สัตว์พิการ สัตว์เจ็บป่วย สัตว์ชรา หรือสัตว์กำลังตั้งท้องเพื่อแสวงหาประโยชน์ ใช้สัตว์ประกอบกามกิจ ใช้สัตว์ทำงานจนเกินสมควรหรือใช้ให้ทำงานอันไม่สมควรเพราะเหตุที่สัตว์นั้นเจ็บป้วย ชรา หรืออ่อนอายุ
>>> วิเคราะห์ >>> จะเห็นได้ว่ากฎหมายให้คำนิยามของการทารุณกรรมที่มีทั้งการกระทำ คือการลงมือเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การใช้มีดฟันหน้าสุนัข หรือการงดเว้นกระทำการคือการที่ไม่กระทำการใดๆที่เป็นการทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมาน เช่น เจ้าของล่ามโซ่สุนัขแล้วไม่ให้ข้าวกินจนสุนัขผอมโซ ลักษณะนี้เป็นการงดเว้นการกระทำที่จะป้องกันผลไม่ให้สัตว์นั้นตายก็เป็นความผิด
นอกจากนี้กฎหมายนี้ก็คุ้มครองสัตว์ที่ถูกคนวิตถารเอาไปเป็นเครื่องสำเร็จความใคร่หรือปฏิบัติกามกิจก็ผิดกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน ถือว่าเป็นการทารุณกรรมเช่นกัน
คราวนี้ขอกระโดดไปมาตราสำคัญเรื่องของบทกำหนดโทษ ซึ่งเริ่มต้นจากมาตรา 31 โดยมีกฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ใดฝ่าฝื่นมาตรา 20 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท
>>>วิเคราะห์>> การที่กฎหมายมีบทลงโทษคือการจำคุกหรือการปรับนี้แสดงให้เห็นว่าความผิดตามมาตรา 20 นี้เป็นโทษทางอาญา เพราะความผิดทางอาญาเท่านั้นที่จะมีบทลงโทษ ดังนั้นผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้ถือว่าเป็นการทำผิดทางอาญานะคะ
ย้อนกลับไปดูที่มาตรา 20 กันหน่อยว่ากฎหมายกำหนดไว้ว่าอะไร มาตรา 20 กฎหมายบอกว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันควร"
>>>วิเคราะห์>>> ดังนั้นต้องย้อนกลับไปดูนิยามของการทารุณกรรมสัตว์ตามที่ได้กล่าวข้างต้นว่าการกระทำใดบ้างเป็นการทารุณกรรมสัตว์ แต่กฎหมายก็ยังมีข้อยกเว้นว่าในกรณีที่มีเหตุอันควรจะต้องกระทำการบางอย่างเข้านิยามของการทารุณกรรมสัตว์แต่มีเหตุอันควร เช่น นายสมชายเห็นสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากำลังกัดนางสมรจึงหยิบปืนยิงสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจนถึงแก่ความตาย เช่นนี้ถือว่าการที่นายสมชายกระทำการทำให้สัตว์ถึงแก่ความตายจะเข้านิยามของการทารุณกรรมสัตว์ก็จริง แต่ก็มีเหตุอันควร ดังนั้นจึงไม่ครบองค์ประกอบของความผิดฐานการทารุณกรรมสัตว์ จึงไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 31
ดังนั้นหากใครพบเห็นว่ามีบุคคลใดกระทำการที่เข้าข่ายเป็นการทารุณกรรมสัตว์ตามที่กฎหมายนิยามไว้แล้วนั้นสามารถดำเนินการแจ้งความแก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีทางอาญาแก่ผู้กระทำผิดได้นะคะ ตอนนี้เรามีกฎหมายรับรองคุ้มครองสัตว์กันแล้วนะคะ
หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมหรือต้องการหารือข้อกฎหมายติดต่อทีมงานบริษัทฯ ได้ที่ 02 1717617 หรือ LINE ID: eltcorp นะคะ