อำนาจในการปกครองบุตร
อำนาจในการปกครองบุตร
บทความโดย ที่ปรึกษากฎหมายกฤช ชูพุทธกาล – บริษัท เอนไลเทิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด โทร. 021717617, 091 569 5655, LINE ID: eltcorp
สวัสดีครับ วันนี้ผู้เขียนจะมานำเสนอบทความต่อจากสัปดาห์ที่แล้วนะครับ ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นได้พูดถึงเรื่องการจดทะเบียนรับรองบุตร ให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา ส่วนในสัปดาห์นี้ดังที่ได้เกริ่นไว้ในตอนท้าย จะกล่าวถึง เรื่องการที่บิดาหรือมารดา สามารถมีอำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียวได้หรือไม่อย่างไร
ในปัจจุบันประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ว่าได้เรื่องครอบครัวได้ให้สิทธิชายและหญิงเท่าเทียมกันในการเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรร่วมกันอย่างเท่าเทียมกัน แต่บุตรที่จะอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของบิดาและมารดานั้นมีแต่เฉพาะบุตรที่เป็นผู้เยาว์เท่านั้น บุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้วไม่ว่าจะเป็นการบรรลุนิติภาวะด้วยการสมรสเมื่ออายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ หรือบรรลุนิติภาวะเพราะอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ก็ได้พ้นสภาพผู้เยาว์ไปแล้วไม่ต้องอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของบิดาและมารดาอีกต่อไป
โดยปกติแล้วอำนาจในการปกครองบุตรนั้นต้องอยู่กับบิดาและมารดา แต่จะมีกรณียกเว้นที่อำนาจปกครองบุตรอาจจะอยู่กับบิดาหรือมารดาก็เป็นได้ตามมาตรา 1566 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดาในกรณีดังต่อไปนี้
(1) มารดาหรือบิดาตาย หมายความว่า บิดาหรือมารดาฝ่ายที่เหลืออยู่ก็เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองไปแต่เพียงคนเดียว หากมารดาหรือบิดาตายและอีกฝ่ายที่เหลืออยู่มิได้ถูกถอนอำนาจปกครองแล้วนั้น จะไม่อาจตั้งผู้ครองขึ้นมาแทนฝ่ายที่เหลืออยู่ได้
(2) ไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย เช่น กรณีที่บิดาหายไปจากถิ่นที่อยู่โดยไม่มีใครทราบว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร มารดาที่ยังเหลืออยู่จึงใช้สิทธิปกครองแต่เพียงผู้เดียว
(3) มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(4) มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน
(5) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา ซึ่งการที่ศาลจะสั่งให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจปกครองเพียงคนเดียวนั้น ศาลต้องคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ
(6) บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้”
บิดาหรือมารดา จะสามารถมีอำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียวได้นั้น ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุในมาตรา 1566 ข้างต้น เช่น มารดาหรือบิดาตาย อำนาจปกครองจะตกอยู่กับฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่ กรณีไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย อย่างเช่น บิดาไปร่วมรบในสงคราม แล้วไม่กลับมา โดยไม่มีใครทราบว่าบิดายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เช่นนี้อำนาจปกครองก็จะอยู่ที่มารดาแต่ผู้เดียว หรืออาศัยเหตุอื่นๆตามมาตรา 1566
ทีนี้หลายคนอาจสงสัยว่า ตามมาตรา 1566(5) นั้น บิดาหรือมารดาจะใช้สิทธิทางศาลขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตนเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรได้แต่เพียงผู้เดียว หรือจะเพิกถอนอำนาจปกครองของอีกฝ่ายหนึ่งนั้น เรื่องนี้ต้องมีเหตุตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1582 ในการอ้างต่อศาลเพื่อขอเพิกถอนอำนาจปกครองบุตร ดังนี้คือ
1. ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นบุคคลไร้ความสามารถ
2. ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
3. ผู้ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ เช่น ทอดทิ้งบุตร ไม่ให้บุตรได้รับการศึกษา เป็นต้น
4. ผู้ใช้อำนาจปกครองประพฤติชั่วร้าย เช่น ถูกศาลพิพากษาให้จำคุกในคดียาเสพติด เป็นต้น
ดังนั้น หากมีพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้น ฝ่ายที่ไม่มีอำนาจปกครองบุตรก็สามารถยื่นฟ้องต่อศาล ขอให้ศาลเพิกถอนอำนาจปกครองบุตรได้ โดยทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นประการสำคัญตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย