เงื่อนไขการสมรส
เงื่อนไขการสมรสตามกฎหมาย
โดย ดร.อรอนงค์ ปิลันธน์โอวาท - บริษัท เอนไลเทิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Enlighten Corporation Co.,Ltd)
การสมรสในประเทศไทยตามประมวลกฎหมายยแพ่งและพาณิชย์นั้น ได้มีการกำหนดเงื่อนไขไว้สำหรับชายและหญิงที่มีความประสงค์ที่จะทำการสมรสกันให้ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศไทย ในประเทศไทย เราเรียกเงื่อนไขเหล่านี้ว่าเงื่อนไขการสมรสซึ่งกฎหมายกำหนดไว้มีทั้งหมด 8 เงื่อนไขอันได้แก่
1. การสมรสระหว่างชายและหญิงนั้นจะกระทำได้เมื่อชายและหญิงมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ทั้งคู่ เว้นแต่มีเหตุสมควรต้องทำการขออนุญาตศาลให้ทำการสมรสก่อนหน้านั้นได้ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์แต่มีเหตุจำเป็นที่ต้องทำการสมรส เช่นมีการตั้งครรภ์ก่อนอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ฝ่ายที่อายุยังไม่ถึงต้องทำการยื่นขออนุญาตต่อศาลเพื่อให้ศาลอนุญาตให้ทำการสมรส โดยการยื่นขออนุญาตต่อศาลนั้นต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาเช่นเดียวกัน
2. ชายหรือหญิงที่มาทำการสมรสกันต้องไม่เป็นคนวิกลจริต หมายถึงต้องไม่เป็นคนที่มีสติฟั่นเฟือนจนไม่สามารถรู้สำนึกของการใช้ชีวิตคู่ หรือเป็นคนที่นอนไม่มีสติ แต่ในกรณีที่เป็นบุคคลที่ประพฤติสุรุ่ยสุร่าย หรือติดสุราเช่นนี้ศาลมิได้ห้ามให้ทำการสมรส หากมีการสมรสกับคนวิกลจริต ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น บิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์สามารถร้องขอให้ศาลสั่งให้การสมรสนั้นเป็นโมฆะได้เช่นกัน
3. การสมรสระหว่างชายและหญิงนั้น ชายและหญิงจะต้องไม่เป็นญาติสืบสายโลหิตตรงขึ้นไปหรือลงมา โดยความเป็นญาตินี้กฎหมายให้คำนึงถึงเฉพาะการที่เป็นญาติกันทางสายโลหิต การเป็นญาติกันโดยทางกฎหมาย เช่น น้าเขย พ่อบุญธรรม น้าบุญธรรม เช่นนี้ไม่ใช่ญาติทางสายโลหิต กฎหมายมิได้ห้ามให้ทำการสมรสกัน ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนทำการสมรสกันระหว่างญาติทางสายโลหิต กฎหมายให้ถือว่าเป็นโมฆะ แปลว่าไม่ถือว่ามีการสมรสเกิดขึ้น คือเสียเปล่ามาตั้งแต่แรก
ญาติทางสายโลหิตที่กฎหมายห้ามมิให้ทำการสมรสกัน คือ บิดามารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด บุตร หลาน เหลน ลื่อ พี่น้องร่วมบิดามารดา พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือร่วมแต่มารดา
4. ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้ ในเงื่อนไขข้อนี้หากผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมทำการสมรสกัน กฎหมายถือว่าการสมรสนั้นสมบูรณ์ แต่ความเป็นบุตรบุญธรรมและผู้รับบุตรธรรมก็จะสิ้นสุดไปทันที
5. ชายหรือหญิงที่จะทำการสมรสในขณะที่มีคู่สมรสอยู่แล้วไม่ได้ ภาษาชาวบ้านคือสมรสซ้อนไม่ได้ ทางกฎหมายถือว่าเป็นโมฆะ ในอดีตเมื่อระบบทะเบียนราษฎร์ยังไม่ได้อยู่ในรูปแบบคอมพิวเตอร์ มีหลายกรณีที่มีการจดทะเบียนสมรสซ้อนในแต่ละจังหวัด มีเพียงคู่สมรสที่มีทะเบียนคนแรกถือว่าเป็นคู่สมรสที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย โดยต้องทำการฟ้องต่อศาลขอให้ศาลสั่งให้การสมรสซ้อนที่เกิดขึ้นภายหลังเป็นโมฆะ เพราะหากไม่ขอให้ศาลสั่งปัญหาที่อาจจะตามมาคือเรื่องของบุตรที่เกิดกับคู่สมรสคนที่มีทะเบียนซ้อนซึ่งก็ถือว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา ในกรณีที่ชายจดทะเบียนซ้อนกับผู้หญิงหลายคน
6. การมาสมรสกันของชายและหญิงต้องยินยอมมาเป็นสามีภริยากัน โดยต้องมาแสดงการยินยอมต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกการยินยอมด้วย เช่น หากชายและหญิงแกล้งมาทำการจดทะเบียนสมรสกันเพื่อให้อีกฝ่ายรับผลประโยชน์บางอย่างโดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ต้องการอยู่เป็นสามีภริยากัน เช่นนี้กฎหมายถือว่าการจดทะเบียนสมรสเป็นโมฆะ
7. หญิงหม้ายจะสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อต้องขาดจากการสมรสเดิม ไม่ว่าจะโดยการหย่า คู่สมรสเสียชีวิต หรือศาลสั่งเพิกถอนการสมรสได้นั้นการสิ้นสุดการสมรสต้องไม่น้อยกว่า 310 วันเพื่อป้องกันปัญหาเรื่องบุตรที่อาจจะเกิดมาภายในระยะเวลาดังกล่าว เว้นแต่การสมรสใหม่จะเข้าเงื่อนไขคือ 1) สมรสกับคู่สมรสเดิม; 2) ได้คลอดบุตรแล้ว; 3) เอาใบรับรองแพทย์มาว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ หรือ 4)ให้ศาลอนุญาตให้สมรสใหม่ได้
8. เงื่อนไขในการสมรสเงื่อนสุดท้ายคือ กรณีผู้เยาว์ (บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ) จะสมรสได้ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง
ดังนั้นในทางกฎหมายก็มีการกำหนดเงื่อนไขเอาไว้ทั้งหมด 8 ประการสำหรับการสมรสที่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด มีข้อสงสัยต้องการปรึกษาสามารถติดต่อบริษัท เอนไลเทิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ 02 1717617 หรือ email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. หรือ LINE ID: ELTCORP