Print this page

เมื่อต้องหย่า

 

เขียนโดย  คุณสุภาวิณี  เชี่ยวชาญ บริษัทเอนไลเทิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด โทร 02-1717617 

          เหตุหย่าตามกฎหมายไทยมีมาแต่สมัยโบราณ  ตามกฎมายลักษณะผัวเมียบทที่ 67 "เมื่อสามีภริยามิชอบเนื้อพึงใจกัน 

จะหย่ากันไซ้รตามน้ำใจเขา เหตุว่าเขาทั้งสองสิ้นบุญกันแล้ว จะจำใจให้อยู่ด้วยกันนั้นมิได้" ซึ่งปัจจุบันประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 1516 แก้ไขใหม่ พ.ศ. 2551 ว่าเหตุที่จะฟ้องหย่ามีอยู่ 10 ประการ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ชายหญิงไม่สามารถอยู่กินเป็นสามีภริยาร่วมกันต่อไปได้

 

          เมื่อสามีภริยาซึ่งได้จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อาจที่จะที่อยู่ร่วมกันอีกต่อไปได้ กฎหมายอนุญาตให้มีการหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่ายได้หรือโดยคำพิพากษาของศาล ตามมาตรา 1514

 

           เหตุฟ้องหย่าประการที่ 1 สามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อืนนฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้ หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ และ

 

           เหตุฟ้องหย่าประการที่ 2 สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง หรือได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายทีประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

 

            แต่เหตุฟ้องหย่าประการที่ 1 และประการที่ 2 นี้ ถ้าสามีหรือภริยาแล้วแต่กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจใน      การกระทำที่เป็นเหตุหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้ อาทิเช่น ภริยาหลวงรู้ว่าสามีจะไปรับภริยาน้อยมาอยู่ร่วมบ้านก็มิได้แสดงกริยาอาการหึงหวงกลับยังช่วยจัดห้องหาเครื่องใช้ให้เสียอีก หรือ สามีจะไปลักทรัพย์ ภริยาร่วมไปด้วยโดยเป็นคนดูต้นทาง ทั้งสองกรณีที่กล่าวมานี้ สามีหรือภริยาที่รู้เห็นเป็นใจหรือให้ความยินยอมจะอ้างเหตุดังกล่าวมาเป็นเหตุแห่งการฟ้องหย่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ หลักในเรื่องความยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจของฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าทำให้ผู้นั้นไม่อาจจะฟ้องหย่าได้เป็นหลักสากล ซึ่งมีบัญญัติไว้ในมาตรา 1517 วรรคหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ บรรพ5 ของไทยด้วย ซึ่งเป็นข้อยกเว้นในเหตุฟ้องหย่า

 

           ข้อควรระวังว่า หากเป็นเพียงการยอมอดทนนิ่งเฉยโดยไม่แสดงปฎิกริยาอะไร หรือเป็นการวางกับดักเพื่อที่จะจับผิดนั้น ไม่ถือว่าเป็นการยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจ เช่น สามีสงสัยว่าภริยามีชู้ จึงแกล้งบอกกับภริยาว่าจะไปต่างจังหวัด 1 อาทิตย์ แต่แอบซ่อนตัวอยู่ในเมือง ตกดึกจึงกลับเข้าบ้านพบภริยานอนอยู่กับชายชู้ เช่นนี้จะถือว่าสามียินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้ภริยามีชู้ไม่ได้ สามีมีสิทธิที่จะอ้างเหตุภริยามีชู้เป็นแห่งการฟ้องหย่า หรือ การที่สามียินยอมให้ภริยาร่วมประเวณีกับนาย A แต่ต่อมาภริยาไปร่วมประเวณีกับนาย B อีกสามีก็มีสิทธิฟ้องหย่าภริยาโดยอ้างเหตุภริยามีชู้กับนาย B ได้ ไม่ถือว่าสามียินยอมให้ภริยามีชู้กับนาย B ด้วย

 

          เหตุฟ้องหย่าประการที่ 3 สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาท หรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

 

          เหตุฟ้องหย่าประการที่ 4 สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้ และในเหตุฟ้องหย่าประการที่ 4 ยังมีเหตุฟ้องหย่าประการอื่นๆ ดังนี้

 

                  (4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

 

                  (4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

 

          เหตุฟ้องหย่าประการที่ 5 สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

 

          เหตุฟ้องหย่าประการที่ 6 สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

 

          เหตุฟ้องหย่าประการที่ สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้

 

          เหตุฟ้องหย่าประการที่ 8 สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้ ซึ่งในกรณีฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุแห่งการผิดทัณฑ์บนนี้ ถ้าศาลเห็นว่าความประพฤติของสามีหรือภริยาอันเป็นเหตุให้ทำทัณฑ์บนเป็นเหตุเล็กน้อยหรือไม่สำคัญเกี่ยวแก่การอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุข ศาลจะไม่พิพากษาให้หย่าก็ได้ เช่น สามีเป็นใจดีชอบรับอาสาเพื่อนพานั่งรถยนต์ขับไปส่งบ้านเสมอๆ ภริยาจึงให้สามีทำทัณฑ์บนให้ไว้กับภริยาว่าจะไม่ให้บุคคลอื่นนั่งรถยนต์ไปด้วย มาวันหนึ่งสามีเกิดรับหญิงท้องแก่นั่งรถยนต์เพื่อจะนำส่งโรงพยาบาล เช่นนี้ เห็นว่าได้ว่าความประพฤติของสามีที่ขอรับอาสาเพื่อนไปส่งบ้านอันเป็นเหตุให้ทำทัณฑ์บนนั้นเป็นเพียงเล็กน้อย แม้จะมีการผิดทัณฑ์บนศาลจะไม่พิพากษาให้หย่าก็ได้

 

          เหตุฟ้องหย่าประการที่ 9 สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง และโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

 

          เหตุฟ้องหย่าประการที่ 10 สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ แต่ถ้าเกิดเพราะการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งอีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้ ทั้งนี้เพราะตนเป็นผู้ผิดที่เป็นต้นเหตุให้เกิดเหตุหย่าขึ้น เช่น ภริยาโกรธสามีที่ชอบไปยุ่งเกี่ยวกับหญิงอื่นจึงใช้มีดโกนตัดของลับสามี เช่นนี้ ภริยาเองจะมาฟ้องหย่าโดยอ้างว่าสภาพแห่งกายของสามีไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาลไม่ได้

 

          แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้จะมีเหตุฟ้องหย่าเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเหตุหนึ่งหรือหลายเหตุก็ตาม หากคู่สมรสฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้กระทำกาอันแสดงให้เห็นว่าได้ให้อภัยในเหตุกาณ์นั้นแล้ว คู่สมรสทั้งสองฝ่ายนั้นก็ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องหย่าในภายหลังได้ ทั้งนี้เพราะสิทธิฟ้องหย่าได้หมดสิ้นไปแล้วตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1518   สิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปในเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้กระทำการอันแสดงให้เห็นว่าได้ให้อภัยในการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้นแล้ว" 

 

          การให้อภัย จะต้องมีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า คู่สมรสที่มีสิทธิฟ้องหย่าแสดงกิริยาอาการอย่างชัดแจ้งที่จะให้คู่สมรสฝ่ายที่ทำผิดกลับมาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาดังเดิม มิใช่เป็นเพียงการกล่าวยกโทษด้วยวาจาหรือทำเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ซึ่งการให้อภัยนี้ คู่สมรสฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าจะต้องรับรู้ถึงความผิดที่ได้กระทำลงไปโดยตลอดด้วย คู่สมรสฝ่ายที่ทำผิดจะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำผิดทั้งหมดเพื่อให้คู่สมรสฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้พิจารณาดูว่าสมควรที่จะให้อภัยหรือไม่ มิฉะนั้นแล้วยังไม่ถือว่าเป็นการให้อภัย สิทธิฟ้องหย่าก็ยังคงมีอยู่

 

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

         อ้างอิงข้อมูลจาก บทความเรื่อง ข้อยกเว้นในเหตุฟ้องหย่า เขียนโดย ท่านอาจารย์ ประสพสุข บุญเดช