Print this page

การกู้ยืมไม่ทำสัญญากู้ยืมถือว่าการกู้ยืมสมบูรณ์หรือยัง

การกู้ยืมไม่ทำสัญญาถือว่าการกู้ยืมสมบูรณ์หรือยัง

          หลายๆคนคงจะเคยมีข้อถกเถียงกันว่าผู้กู้ยืมยังไม่ได้ทำเอกสารสัญญากับผู้ให้กู้เลย ดังนั้นยังไม่เคยมีการกู้ยืมเกิดขึ้น หลายๆคนอาจเคยเข้าใจว่าในการกู้ยืมเงิน หรือภาษาชาวบ้านที่เรียกว่ายืมเงินนั้นต้องมีการทำสัญญากันก่อนจึงจะถือว่ามีการยืมเงินกันแล้ว

          แต่ในความเป็นจริงแล้วกฎหมายมีการวางหลักเอาไว้ชัดเจนในเรื่องของการกู้ยืมโดยมีหลักง่ายๆตามที่วางหลักไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 650 และมาตรา 653 โดยสรุปแล้ว

1.       การกู้ยืมเงินสมบูรณ์ตั้งแต่ได้มีการส่งมอบเงินให้กับผู้กู้ยืมแล้ว ดังนั้นโดยหลักแล้วแม้จะไม่มีการทำสัญญากัน การกู้ยืมเงินนั้นสมบูรณ์ตั้งแต่ผู้ให้กู้ส่งมอบเงินให้ผู้กู้ยืมแล้ว

2.       แต่ กฎหมายกำหนดไว้ว่าหากเป็นการกู้ยืมเงินที่เกินกว่า 2,000 บาท ต้องมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้ที่กู้ยืมเงินไว้เพื่อประโยชน์ในการฟ้องร้องบังคับกัน เมื่ออ่านหลักกฎหมายนี้แล้วจะเห็นว่า แม้ว่ากฎหมายจะได้วางหลักไว้แล้วว่าการกู้ยืมสมบูรณ์ตั้งแต่มีการส่งมอบเงินที่ยืมกันแล้ว แต่ถ้าในกรณีที่กู้ยืมกันมากกว่า 2,000 บาทแล้วต้องมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือว่าได้มีการยืมเงินกัน โดยที่ผู้ยืมเป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญา เพราะถ้าไม่ได้มีการทำหลักฐานเป็นหนังสือ และไม่ได้มีลายมือชื่อของผู้กู้ยืมเงินแล้วนั้นหากลูกหนี้เบี้ยวหนี้ไม่ชำระหนี้แล้วนั้น เจ้าหนี้ก็จะไม่สามารถไปฟ้องร้องบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้

 

3.       คำถามถัดมาคือ การทำหลักฐานเป็นหนังสือนั้นต้องเขียนขึ้นเป็นสัญญาแบบทางการหรือไม่ โดยหลักกฎหมายมิได้มีการกำหนดว่าจะต้องมีการทำเป็นหนังสือสัญญาแบบทางการ สิ่งที่กฎหมายต้องการคือเอกสารหรือหนังสือที่อาจมีข้อความเพียงว่า นายดำได้ยืมเงินนายแดง 5,000 บาท และได้รับเงินจากนายแดงเรียบร้อยแล้ว โดยอาจจะทำการเขียนลงในเศษกระดาษและลงลายมือชื่อของนายดำ เพียงเท่านี้ก็เป็นหนังสือที่สมบูรณ์ที่สามารถนำมาใช้ฟ้องร้องนายดำได้หากนายดำปฏิเสธไม่ชำระหนี้ตามกำหนด